Wednesday, March 25, 2009

วัดหน้าพระเมรุ

18-22 มีนาคม 2552

มีโอกาสไปทำ WorkShop กับสำนักเทคโนโลยีเพื่อการเรียนการสอน (สทร.) ทำให้มีโอกาสไปเที่ยววัดไหว้พระอยุธยากรุงเก่าแบบเป็นเรื่องเป็นราว ซึ่งเป็นเรื่องที่อยากทำมานาน แต่ที่ผ่านมาเวลาไปเที่ยวก็ไปกันหลายคน ไม่สามารถท่องเที่ยวแบบเคลื่อนที่เร็วได้ ด้วยปัญหาของตัวแปรที่ควบคุมไม่ได้มีอยู่หลายประการ ... วันนี้ก็เลยท่องเที่ยวแบบนอนสต็อป .... ออกจากโรงแรมวรบุรี คอนเวนชั่น แอนด์รีสอร์ท ตอนสายๆ เติมน้ำมันเต็มถังขับรถไปตามป้ายบอกทาง ไม่มีกำหนดการล่วงหน้า เป็นอะไรที่รู้สึกอิสระมากจริงๆ และไม่เคยทำมาก่อน ถึงประมาณห้าโมงเย็น รูมเมทเรียกหาเลยต้องรับกลับ สรุปว่าได้แวะเที่ยววัด ทั้งวัดมีพระและไม่มีพระจำนวน 15 วัด .... วันที่สองหลัง WorkShop ไปต่ออีกกับเพื่อน ได้อีก 3 วัด รวม 18 วัด นอกจากนั้นยังมีโอกาสล่องเรือกับคณะใหญ่ ก็ได้เห็นความงามของวัดสองฝั่งเจ้าพระยาได้อย่างเต็มอิ่มเต็มตาม .... ก็เลยคิดว่าจะนำรูปลงใน Picasa Album และเขียน Blog เป็นความทรงจำทางออนไลน์... โดยจะทะยอยเล่าเรื่องไปเรื่อยๆ จนกว่าจะจบ หรือหมดแรงเสียก่อน ดังนี้



วัดหน้าพระเมรุ
วัดหน้าพระเมรุเป็นวัดสุดท้ายที่ได้ไปแวะเที่ยว แต่เป็นวัดที่ประทับใจที่สุด โดยเฉพาะที่ชอบมากๆ คือความงดงามของพระอุโบสถ และประวัติศาสตร์ของวัดนี้ ....

.....วัดหน้าพระเมรุ ตั้งอยู่ริมคลองสระบัวด้านทิศเหนือของคูเมือง (เดิมเป็นแม่น้ำลพบุรี) ตรงข้ามกับพระราชวังหลวง สร้างในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนต้น พุทธศักราช 2046 มีชื่อเดิมว่า “วัดพระเมรุราชิการาม” ที่ตั้งของวัดนี้เดิมคงเป็นสถานที่สำหรับสร้างพระเมรุถวายพระเพลิงพระบรมศพของพระมหากษัตริย์พระองค์ใดพระองค์หนึ่งสมัยอยุธยาตอนต้นต่อมาจึงได้สร้างวัดขึ้น มีตำนานเล่าว่าพระองค์อินทร์ในรัชกาลสมเด็จพระรามาธิบดีที่ 2 ทรงสร้างวัดนี้เมื่อ พ.ศ. 2046 วัดนี้มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ สมเด็จพระมหาจักรพรรดิเมื่อครั้งทำศึกกับพระเจ้าบุเรงนองได้มีการทำสัญญาสงบศึกเมื่อ พ.ศ. 2106ได้สร้างพลับพลาที่ประทับขึ้นระหว่างวัดหน้าพระเมรุกับวัดหัสดาวาส

วัดนี้เป็นวัดเดียวในกรุงศรีอยุธยาที่ไม่ได้ถูกพม่าทำลายและยังคงปรากฏสถาปัตยกรรมแบบอยุธยาอยู่ในสภาพสมบูรณ์มากที่สุดในจังหวัดพระนครศรีอยุธยา พระอุโบสถมีขนาดยาว 50 เมตร กว้าง 16 เมตรเป็นแบบอยุธยาตอนต้นซึ่งมีเสาอยู่ภายใน ต่อมาสร้างขยายออกโดยเพิ่มเสารับชายคาภายนอกในรัชสมัยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวบรมโกศ หน้าบันเป็นไม้สักแกะสลักเป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑเหยียบเศียรนาคและมีรูปราหูสองข้างติดกับเศียรนาค หน้าต่างเจาะเป็นช่องยาวตามแนวตั้ง เสาเหลี่ยมสองแถวๆ ละแปดต้น มีบัวหัวเสาเป็นบัวโถแบบอยุธยา ด้านบนประดับด้วยดาวเพดานเป็นงานจำหลักไม้ลงรักปิดทอง ส่วนลายแกะสลักบานประตูพระวิหารน้อย เป็นลายแกะสลักด้วยไม้สักหนา แกะสลักจากพื้นไม้ไม่มีการนำชิ้นส่วนที่อื่นมาติดต่อเป็นลายซ้อนกันหลายชั้น

พระประธานในอุโบสถสร้างปลายสมัยอยุธยาเป็นพระพุทธรูปปางมารวิชัยหล่อด้วยทองสัมฤทธิ์ทรงเครื่องแบบกษัตราธิราช มีนามว่า “พระพุทธนิมิตวิชิตมารโมลีศรีสรรเพชญ์บรมไตรโลกนาถ” จัดเป็นพระพุทธรูปทรงเครื่องสมัยอยุธยาที่มีขนาดใหญ่ที่สุดเท่าที่มีปรากฏอยู่ในปัจจุบันและมีความสมบูรณ์งดงามมากสูงประมาณ 6 เมตรหน้าตักกว้างประมาณ 4.40 เมตร

ในสมัยรัชกาลที่ 3 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ได้มีการปฏิสังขรณ์วัดนี้โดยรักษาแบบอย่างเดิมไว้และได้เชิญพระพุทธรูปศิลาสีเขียวหรือพระคันธารราฐประทับนั่งห้อยพระบาทสมัยทวาราวดีจากวัดมหาธาตุมาไว้ในวิหารสรรเพชญ์(หรือเรียกว่า วิหารน้อยเพราะขนาดวิหารเล็ก มีความยาว 16 เมตร กว้างประมาณ 6 เมตร) ซึ่งอยู่ข้างพระอุโบสถ

พระพุทธรูปศิลาแบบนั่งห้อยพระบาทสมัยทวาราวดีนี้ นับเป็น 1 ใน 5 องค์ที่มีอยู่ในประเทศไทย จึงนับเป็นสิ่งที่มีค่าควรแก่การเก็บรักษาไว้

พระอุโบสถเปิดตั้งแต่เวลา 08.00-18.00 น.