Thursday, November 20, 2008

การเขียนรายงานผลงานวิชาการ




การรายงานผลการปฏิบัติงานย้อนหลัง : เป็นฐานพลังแห่งความสำเร็จในวิชาชีพครู( กรณีของศึกษานิเทศก์ )

วิชาชีพครูและบุคลากรทางการศึกษา จัดเป็นวิชาชีพชั้นสูงที่มีความก้าวหน้าในวิชาชีพด้วยระบบวิทยฐานะที่มีค่าตอบแทนนอกเหนือจากเงินเดือนไว้อย่างชัดเจน ด้วยเหตุดังกล่าว จึงทำให้มีครูและบุคลากรทางการศึกษาจำนวนมากเสนอขอเลื่อนวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ/เชี่ยวชาญ/เชี่ยวชาญพิเศษ การขอเลื่อนวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ/เชี่ยวชาญ/เชี่ยวชาญพิเศษของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษานั้น มีการประเมิน 3 ด้าน คือ ด้านที่ 1 วินัยคุณธรรมจริยธรรมและจรรยาบรรณวิชาชีพครู ด้านที่ 2 ด้านคุณภาพในการปฏิบัติงาน และด้านที่ 3 ผลงานที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ สำหรับผู้ที่เสนอขอเลื่อนวิทยฐานะในปีนั้น ทุกคนได้เข้าสู่กรอบการประเมินที่ ก.ค.ศ.กำหนด และได้ผ่านช่วงการประเมินในด้านที่ 1 และ 2 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือ การประเมินในด้านที่ 3 ที่จะต้องดำเนินการจัดส่งผลงานต่าง ๆ ให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 31 มีนาคม การประเมินด้านที่ 3 พิจารณาจากผลงานที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งประกอบด้วย 1) เอกสารการรายงานผลการปฏิบัติงานย้อนหลังสองปีติดต่อกันเขียนไม่ให้เกิน 10 หน้า (สำหรับวิทยฐานะชำนาญการพิเศษ) และเขียนไม่เกิน 50 หน้า (สำหรับวิทยฐานะเชี่ยวชาญ) 2) เอกสารผลงานทางวิชาการ 1 ชิ้น และเอกสารการวิจัย 1 ชิ้น (การวิจัยเฉพาะวิทยฐานะเชี่ยวชาญและการวิจัยและพัฒนาสำหรับวิทยฐานะเชี่ยวชาญพิเศษ) การเขียนรายงานผลการปฏิบัติงานตามหน้าที่ของครู ผู้อำนวยการโรงเรียน หรือศึกษานิเทศก์นั้นมีแนวทางการเขียนแตกต่างกัน ในที่นี้ได้วิเคราะห์บทบาทภารกิจของศึกษานิเทศก์ ที่จะทำการเขียนตามแบบฟอร์ม วฐ2/1 ซึ่งเป็นการเขียนรายงานผลงานที่เกิดการปฏิบัติหน้าที่ ของข้าราชการครูและบุคลากรทางการศึกษา เพื่อขอมีหรือเลื่อนวิทยฐานะ ชำนาญการพิเศษ/เชี่ยวชาญ/เชี่ยวชาญพิเศษ อันจะเป็นแนวทางในการเขียนรายงานผลการปฏิบัติงานย้อนหลังสองปีติดต่อกันสำหรับศึกษานิเทศก์ ดังนี้


ประเด็นแรก ในภาพรวมของเกณฑ์การประเมินการให้คะแนนผลการปฏิบัติงานย้อนหลัง ประเมินโดยกรรมการชุดที่ 2 หรือคณะกรรมการประเมินผลงานที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ เช่นผลงานย้อนหลัง 2 ปีติดต่อกัน ผลงานทางวิชาการ และผลงานการวิจัย มีคะแนนเต็มในการประเมิน 100 คะแนนประกอบด้วย

1)ผลงานตามหน้าที่และความรับผิดชอบ 20 คะแนน (กรณีวิทยฐานะเชี่ยวชาญ 20 คะแนน)

2) ผลงานตามลักษณะงานที่ปฏิบัติ 40 คะแนน(กรณีวิทยฐานะเชี่ยวชาญ 30 คะแนน)

3) ผลงานที่เกิดกับผู้เรียน40 คะแนน (กรณีวิทยฐานะเชี่ยวชาญ 30 คะแนน)

4) ผลงานที่เกิดกับสถานศึกษาและชุมชน (กรณีวิทยฐานะเชี่ยวชาญ 20 คะแนน)


ซึ่งเกณฑ์การประเมินต้องผ่านร้อยละ 70 (วิทยฐานะชำนาญการพิเศษ)และผ่านเกณฑ์การประเมินร้อยละ 75 (วิทยฐานะเชี่ยวชาญ) เมื่อมีเกณฑ์กำหนดไว้เช่นนี้ ผู้ที่จัดทำผลงานก็ต้องแสดงความชำนาญการและความเชี่ยวชาญให้ปรากฏชัดแจ้ง และเป็นรูปธรรมให้มากที่สุดเท่าที่จะมากได้


ประเด็นที่สอง คือแนวทางในการเขียนตามแบบฟอร์มของ วฐ 2/1 กระทงข้อความที่จะเขียนลงไปในแบบฯ จำนวน 5 ข้อ มี 100 คะแนน ประกอบด้วย

1)ข้อมูลผู้ขอรับการประเมิน

2) การปฏิบัติงานในปีที่ขอทำการประเมิน

3)การรายงานผลการปฏิบัติงานที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่

4)งานวิจัยหรืองานวิทยานิพนธ์ที่เคยเสนอเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาเพื่อขอรับปริญญาหรือประกาศนียบัตร หรือเป็นส่วนหนึ่งของการฝึกอบรม

5) ผลงานทางวิชาการที่เคยได้รับอนุมัติเพื่อกำหนดตำแหน่ง และแต่งตั้งให้ได้รับเงินเดือนในระดับที่สูงขึ้น หรือให้มีวิทยฐานะ หรือเลื่อนเป็นวิทยฐานะที่สูงขึ้น


ประเด็นที่สาม คือ รายละเอียดของแนวทางในการเขียนผลการปฏิบัติงานย้อนหลัง 2 ปีติดต่อกัน ตามแบบฟอร์ม วฐ 2/1 ข้อ 3 การรายงานผลงานที่เกิดจากการปฏิบัติหน้าที่ (จัดพิมพ์ 5-10/20-50 หน้า) และมีคะแนน(100/65 : 70) มีหัวข้อและประเด็นที่ควรนำมารายงานดังนี้

ผลการปฏิบัติงาน

1.ผลงานตามหน้าที่และความรับผิดชอบตามมาตรฐานตำแหน่งและมาตรฐานวิทยฐานะ ได้แก่

1.1ปฏิบัติหน้าที่เกี่ยวกับงานวิชาการ และงานนิเทศการศึกษาเพื่อปรับปรุงการเรียนการสอนให้ได้มาตรฐาน1.2 การศึกษาค้นคว้าทางวิชาการ และการวิเคราะห์วิจัย

1.3 การติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผล เพื่อพัฒนาการจัดการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

1.4 ปฏิบัติงานอื่นตามที่ได้รับมอบหมาย


2. ผลงานตามลักษณะงานที่ปฏิบัติตามมาตรฐานตำแหน่งและคุณภาพการปฏิบัติงานตามมาตรฐานวิทยฐานะ

2.1ผลงานตามตามลักษณะงานที่ปฏิบัติตามมาตรฐานตำแหน่ง

1)การนิเทศการศึกษาโดยส่งเสริมให้สถานศึกษาบริหารหลักสูตรสถานศึกษา จัดกระบวนการเรียนรู้

2)มีระบบการประกันคุณภาพภายในสถานศึกษาตามมาตรฐานการศึกษาชาติ

3) พัฒนาการวัดและประเมินผลการศึกษา

4) การพัฒนาสื่อ นวัตกรรม และเทคโนโลยีทางการศึกษาได้อย่างมีคุณภาพ

5) การศึกษาค้นคว้าทางวิชาการเพื่อจัดทำเป็นเอกสาร คู่มือ และสื่อใช้ในการปฏิบัติงานและเผยแพร่ให้ครูได้ใช้ในการพัฒนาการจัดกระบวนการเรียนการสอน

6) การวิเคราะห์ วิจัย เกี่ยวกับการพัฒนาหลักสูตร กระบวนการเรียนรู้ สื่อ นวัตกรรม และเทคโนโลยีทางการศึกษา เพื่อการพัฒนาระบบการบริการงานวิชาการการพัฒนามาตรฐานและการประกันคุณภาพการศึกษา เพื่อใช้ในการปฏิบัติงานการเผยแพร่แก่ผู้บริหารสถานศึกษา ครู และผู้สนใจทั่วไป

7) การติดตาม ตรวจสอบ และประเมินผลเพื่อเป็นข้อมูลและสารสนเทศในการวางแผนนิเทศ และพัฒนางานทางวิชาการ

8) การปฏิบัติงานอื่นตามที่ได้รับมอบหมาย

2.2 คุณภาพการปฏิบัติงานตามมาตรฐานวิทยฐานะ

1)การมีความรู้ความเข้าในเรื่องหลักการนิเทศการศึกษา หลักสูตรกระบวนการจัดการเรียนรู้ การวัดประเมินผลการศึกษา การประกันคุณภาพการศึกษา ระบบดูแลช่วยเหลือครูและผู้เรียนและ เครื่องมือนิเทศในระดับพื้นฐาน

2) มีความสามารถเรื่อง การวางแผนการนิเทศการศึกษา งานวิชาการ งานติดตาม ตรวจสอบ ประเมินผลการจัดการศึกษา การจัดทำรายงานผลการปฏิบัติงานโดยแสดงให้เห็นว่าเป็นผู้มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ ปรับประยุกต์ ระเบียบแบบแผนการนิเทศที่กำหนดไว้ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ และมีการพัฒนาตนและพัฒนาวิชาชีพ

3) มีทักษะในการนิเทศที่คำนึงถึงความแตกต่างของครูและบุคลากรในสถานศึกษาให้สามารถจัดกระบวนการเรียนรู้บรรลุเป้าหมายของหลักสูตรมีมาตรฐานการศึกษาของสถานศึกษา

4) เป็นผู้มีวินัยคุณธรรม จริยธรรม และจรรยาบรรณวิชาชีพ

3.ผลงานที่เกิดกับผู้เรียน ครู ผู้ปกครอง ชุมชน และสถานศึกษา


นอกจากนั้นผลงานทางวิชาการที่เสนอขอรับการประเมินให้ระบุชื่อของผลงานทางวิชาการที่เสนอขอด้วย


ประเด็นสุดท้ายการเขียนในแบบ วฐ 2/1 ในข้อที่ 4 เกี่ยวกับเรื่องงานวิจัย หรือวิทยานิพนธ์ที่เคยเสนอเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา เพื่อขอรับปริญญาหรือประกาศนียบัตร หรือเป็นส่วนหนึ่งของการฝึก และข้อที่ 5 เป็นผลงานทางวิชาการที่เคยได้รับอนุมัติเพื่อกำหนดตำแหน่งและแต่งตั้งให้ได้รับเงินเดือนในระดับที่สูงขึ้น หรือให้มีวิทยฐานะ หรือเลื่อนเป็นวิทยฐานะที่สูงขึ้นสรุปแนวในการเขียนรายงานผลการปฏิบัติงานย้อนหลัง 2 ปีติดต่อกัน สำหรับศึกษานิเทศก์ จะต้องให้ความสำคัญกับเนื้อหาสาระของงานในข้อที่ 3 (แบบ วฐ 2/1)ที่ทำแล้วเกิดมรรคเกิดผลจริง ส่วนวิธีการเขียนรายงานควรเขียนเป็นปีๆไป เช่น ปีที่ 1 ทำอะไร ปีที่ 2 ทำอะไร การเขียนควรเน้นทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพที่จะแสดงให้เห็นผลงานที่แท้จริง รวมทั้งผลงานทางวิชาการที่มีความสอดคล้องกับการรายงานผลการปฏิบัติงาน จะทำให้งานมีคุณภาพ และมีความน่าเชื่อถือเพิ่มมากขึ้น