Thursday, November 20, 2008

องค์ประกอบการจัดทำผลงานทางวิชาการ และรายงานการวิจัย

องค์ประกอบการจัดทำผลงานทางวิชาการ และรายงานการวิจัย

ความก้าวหน้าในตำแหน่งนับเป็นปัจจัยสำคัญประการหนึ่งของแรงจูงใจในการปฏิบัติงานของบุคลากรในหน่วยงาน ซึ่งในแง่จิตวิทยาการเลื่อนขั้น เลื่อนตำแหน่งเป็นการสร้างความมั่นคง ในชีวิตการทำงาน ครอบครัว สร้างความมั่นใจ ความเชื่อมั่น ความจงรักภักดีต่อหน่วยงาน สร้างความเจริญก้าวหน้าในหน้าที่การงานของข้าราชการตามที่ใฝ่ฝัน
ปัจจุบันบุคลากร มีความก้าวหน้าในตำแหน่งค่อนข้างมากในวิชาชีพ ซึ่งการประเมินบุคคลเพื่อแต่งตั้งให้มีวิทยฐานะที่สูงขึ้นนั้น พบว่ามีข้อบกพร่องหลายประการ เช่น ไม่เข้าใจหลักเกณฑ์และวิธีการประเมิน ไม่ทราบแนวทางการประเมิน การนำเสนอผลการปฏิบัติงาน 2 ปีย้อนหลัง การสอน การฝึกอบรม การให้คำปรึกษาไม่ครบถ้วนสมบูรณ์ ไม่ครบตามระยะเวลาที่กำหนดไว้ นอกจากนี้ในส่วนของผลงานทางวิชาการปรากฏว่าโครงสร้างและลำดับเนื้อเรื่อง บทความวิชาการก็เป็นปัญหาและสร้างความหนักใจให้กับคณะกรรมการ การประเมินผลงาน ที่ต้องพิจารณาผลงานในรูปแบบที่ไม่เป็นมาตรฐานสากล จึงเป็นที่มาของการนำเสนอองค์ประกอบของการจัดทำผลงานทางวิชาการ และรายงานการวิจัย ให้กับผู้ที่สนใจและอยู่ในระหว่างที่จะเขียนผลงานทางวิชาการ และรายงานการวิจัยเพื่อขอมีวิทยฐานะลำดับที่สูงขึ้นไปได้มีแนวทางที่เป็นมาตรฐานสากล


องค์ประกอบของรายงานการวิจัย

ส่วนที่ 1 ส่วนนำหรือส่วนประกอบตอนต้น
ประกอบด้วย
- ปกหน้า หรือปกนอก
- ปกรอง
- ปกใน
- คำนำ
- กิตติกรรมประกาศ / คำขอบคุณ / คำนิยม (ถ้ามี)
- บทคัดย่อภาษาไทย
- สารบัญ
- สารบัญตาราง (ถ้ามี)
- สารบัญแผนภูมิ / สารบัญภาพ (ถ้ามี)

ส่วนที่ 2 ส่วนเนื้อเรื่อง
บทที่ 1 บทนำ
- ความเป็นมา และความสำคัญของปัญหา
- วัตถุประสงค์ของโครงการ
- สมมติฐานในการวิจัย
- ขอบเขตของการวิจัย
- ข้อตกลงเบื้องต้น
- ข้อจำกัดของการวิจัย
- ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
- คำจำกัดความ / คำนิยามศัพท์เฉพาะ / ความหมายที่ใช้ในการวิจัย / นิยามศัพท์ที่ใช้ในการวิจัย
บทที่ 2 วรรณกรรม และผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง / เอกสาร และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง / แนวความคิด ทฤษฎี และผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง
- กรอบแนวคิด


บทที่ 3 วิธีดำเนินการวิจัย / ระเบียบวิธีการวิจัย
- รูปแบบการวิจัย
- ประชากร และกลุ่มตัวอย่าง
- เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย (การสร้างแบบสอบถาม ขั้นตอนการดำเนินการสร้างแบบสอบถาม การทดสอบใช้แบบสอบถาม)
- วิธีการรวบรวมข้อมูล
- วิธีการวิเคราะห์ข้อมูล และสถิติที่ใช้
บทที่ 4 ผลการวิจัย / ผลการวิเคราะห์ข้อมูล
บทที่ 5 สรุปผล วิจารณ์ผล และอภิปรายผล (DISCUSSION) และข้อเสนอแนะ (RECOMMENDATION) สรุป (อาจย่อวัตถุประสงค์ของการวิจัย วิธีดำเนินงานทุกด้าน และสมมติฐานของการวิจัยในส่วนหนึ่งเป็นการนำ แล้วต่อด้วยย่อผลการวิเคราะห์ ข้อมูลส่วนหนึ่ง)
- อภิปราย (โดยการบรรยาย เปรียบเทียบข้อค้นพบของผู้วิจัยกับทฤษฎี และงานวิจัยอื่น ๆ
- ข้อเสนอแนะ (เนื่องจากค้นพบตามเหตุการณ์ที่ได้พบขณะทำวิจัย / เก็บข้อมูล)
- ข้อเสนอแนะในการนำไปปฏิบัติ
- ข้อเสนอแนะในการทำวิจัยครั้งต่อไป

ส่วนที่ 3 ส่วนอ้างอิง
- บรรณานุกรม

ส่วนที่ 4 ส่วนภาคผนวก
- แบบสอบถาม
- อื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง (ชื่อ – นามสกุล อายุ วุฒิการศึกษา ตำแหน่งในปัจจุบัน และประสบการณ์)


องค์ประกอบรูปแบบการเสนอผลงานทางวิชาการ

มีองค์ประกอบดังนี้
1. ปกหน้า
2. ปกรอง
3. ปกใน
4. คำนำ
5. สารบัญ
6. บทนำ
6.1 ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหา
6.2 วัตถุประสงค์
6.3 ขอบเขตการนำเสนอ
6.4 ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
7. เนื้อหา
7.1 กฎ ระเบียบหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง / คำนิยามศัพท์ / ความหมาย
7.2 วิธีการดำเนินการ / ระเบียบวิธีการศึกษา อาจมีการยกกรณีศึกษา หรือภาพภูมิ / แผนผัง ประกอบคำอธิบาย
8. บทสรุป
9. ปัญหาอุปสรรค / ข้อเสนอแนะ
10. ภาคผนวก

หมายเหตุ : หากมีการอ้างถึงแนวความคิด ทฤษฎีต้องมีบรรณานุกรม


วิธีการเสนอผลงานทางวิชาการเพื่อขอรับการประเมิน บุคคลและผลงาน

การเสนอผลงานทางวิชาการเป็นการสื่อสารความรู้ และความคิดที่ผู้วิจัยหรือผู้เขียนได้ศึกษาค้นคว้าไว้ ไปสู่ผู้อ่าน ดังนั้นหากว่าผู้เขียนได้ค้นคว้า และวิเคราะห์ข้อมูลมาเป็นอย่างดี แต่ไม่สามารถสื่อสารความรู้ ความคิดของท่านไปสู่ผู้อื่นได้ ก็ถือว่าผู้เขียนยังไม่ประสบผลสำเร็จในการนำเสนอผลงานนั้น
ฉะนั้น ผลงานทางวิชาการที่ดี จะต้องเป็นผลงานที่สามารถสื่อสารไปยังผู้อ่านได้ในทุกองค์ประกอบ ตั้งแต่ชื่อเรื่องไปจนกระทั่งถึงเนื้อหาภายใน และบทสรุป เมื่อผู้อ่าน อ่านจบจะเกิดความเข้าใจถูกต้องไปในแนวทางเดียวกัน ซึ่งรายละเอียดต่าง ๆ สามารถศึกษาได้ตามลำดับดังนี้

1. ปก
1.1 ปกหน้า
การจัดทำปกหน้าของผลงาน จะประกอบไปด้วยชื่อเรื่องของผลงาน หรือรายงานการวิจัยที่ขอประเมิน โดยใคร สังกัดหน่วยงานใด ปี พ.ศ. ที่เสนอผลงาน ศึกษาตามตัวอย่างเอกสารที่แนบ
อนึ่ง สำหรับปกหน้า ปกในของแบบพิจารณาคุณสมบัติของบุคคลได้จัดทำตัวอย่างตามเอกสารที่แนบ
1.2 ปกรอง
- ใช้กระดาษขาว หรือกระดาษสี ขนาด A4
1.3 ปกใน
- ใช้รูปแบบและข้อความเดียวกับปกหน้า

2. การเขียนชื่อเรื่อง
การใช้ชื่อเรื่องในการนำเสนอผลงาน ผู้เขียนต้องทำความเข้าใจเกี่ยวกับการใช้ชื่อเรื่องก่อนว่า ชื่อเรื่องนั้นมีความสำคัญ 2 ประการ คือ
1) เป็นข้อความสรุปเนื้อเรื่องที่ใช้ถ้อยคำน้อยที่สุด หรือเป็นสาระสังเขปที่สั้นที่สุดของรายงานนั้น
2) เป็นสิ่งที่ผู้อ่านใช้ประเมินว่าเอกสารนั้นสอดคล้องกับความต้องการในการศึกษา หาความรู้ หรือค้นคว้าวิจัย และควรติดตามผล อ่านเอกสารฉบับเต็มหรือไม่
ดังนั้น ในการเขียนชื่อเรื่องควรใช้ภาษาเขียนที่เป็นภาษาทางราชการที่กระชับ และชัดเจน เขียนในสำนวนภาษาไทย หลีกเลี่ยงการใช้ศัพท์ในภาษาต่างประเทศ ถ้าไม่มีคำในภาษาไทย ให้ถ่ายทอดตัวอักษร และเขียนเป็นภาษาไทย ความยาวของชื่อเรื่องไม่ควรเกินหนึ่งบรรทัด และไม่ควรนำกรอบแนวคิดมาใช้ในการตั้งชื่อเรื่องผลงาน

3. การเขียนคำนำ
คำนำจะทำหน้าที่สร้างแรงจูงใจให้เห็นคุณค่าของผลงาน เพื่อให้ผู้อ่านเกิดความสนใจที่จะติดตามอ่านทั้งเรื่อง ได้ทราบถึงความสำคัญของผลงาน ขอบเขตของเนื้อหา รวมทั้งความคาดหวังของผู้เขียน
วิธีการเขียนคำนำปกติจะแบ่งเป็น 3 ย่อหน้าภาษาที่ใช้เขียน จึงจะต้องเขียนให้กระชับรัดกุม ชัดเจน และมุ่งตรงประเด็น สำหรับในย่อหน้าแรก จะกล่าวถึงความเป็นมา หรือความตั้งใจของผู้เขียนในการจัดทำผลงาน ในย่อหน้าที่สองเป็นการกล่าวถึงความสำคัญของผลงาน ตลอดจนระบุขอบเขตของผลงานว่าประกอบด้วยเนื้อหาเรื่องใดบ้าง และในย่อหน้าที่สาม กล่าวถึงประโยชน์ของผลงานที่คาดว่าจะนำไปใช้รวมทั้งอาจกล่าวอ้างถึงผู้ที่มีอุปการคุณกับผู้เขียนในด้านต่าง ๆ ที่ทำให้ผลงานดังกล่าวสำเร็จลุล่วงตามวัตถุประสงค์ของผู้เขียน

4. การเขียนข้อเสนอในการนำเสนอผลงานทางวิชาการ / รายงานวิจัย
4.1 การเขียนข้อเสนอผลงานทางวิชาการจะประกอบด้วยองค์ประกอบดังต่อไปนี้
1. ความเป็นมาของปัญหา
2. วัตถุประสงค์ในการศึกษา
3. ขอบเขตของการนำเสนอผลงาน
4. กฎหมาย ระเบียบ หลักเกณฑ์ข้อบังคับที่เกี่ยวข้อง
5. วิธีดำเนินการ (รวมทั้งการยกตัวอย่างกรณีศึกษา)
6. ผลการศึกษา/ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
7. บทสรุป และข้อเสนอแนะ
8. บรรณานุกรม (ถ้ามี)
4.2 การเขียนข้อเสนองานวิจัย
ข้อเสนองานวิจัยเป็นทั้งกรอบทิศทาง และแผนในการวิจัย ซึ่งหากเป็นกรณีการเขียนเพื่อขอทุนทำงานวิจัย ข้อเสนองานวิจัยถือว่าเป็นข้อมูลหนึ่งที่เจ้าของทุนใช้ในการพิจารณาความเหมาะสมในการอนุมัติให้ทุนวิจัยเรื่องดังกล่าวประการหนึ่งด้วย
ฉะนั้น ผู้วิจัยต้องศึกษาข้อกำหนดและรูปแบบของข้องเสนองานวิจัยตามที่แต่ละสถาบันกำหนด และอ่านคำอธิบายกำกับข้อกำหนด (ถ้ามี) ให้เข้าใจเสียก่อน จึงเริ่มลงมือเขียน หากแต่ในที่นี้จะกล่าวถึงข้อเสนองานวิจัยซึ่งส่วนใหญ่จะใช้ประกอบการเขียนข้อเสนอจะมีหัวข้อต่อไปนี้ คือ
1. ความเป็นมาของปัญหา
2. วัตถุประสงค์ในการศึกษา
3. ขอบเขตของการศึกษา
4. การทบทวนวรรณกรรม / วรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง
5. วิธีการศึกษาวิจัย (รวมทั้งวิธีการวิจัย ตัวอย่าง ประชากร ตัวแปร แบบสอบถาม หรือเครื่องมือในการวิจัย)
6. สมมติฐาน (ถ้ามี)
7. คำนิยามเบื้องต้น / นิยามปฏิบัติการ (ถ้ามี)
8. ข้อตกลงเบื้องต้น
9. เค้าโครงการวิจัย / เค้าโครงเรื่อง
10. ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
11. บรรณานุกรม
โดยทั่วไปของรูปแบบการเขียนรายงานการวิจัย จะประกอบไปด้วย
- บทคัดย่อ
- กิตติกรรมประกาศ
- สารบัญเรื่อง
- สารบัญตาราง (ถ้ามี) , สารบัญภาพ (ถ้ามี)
และมีองค์ประกอบต่าง ๆ ดังต่อไปนี้ จำนวน 5 บาท คือ
บทที่ 1 บทนำ
- ความเป็น และความสำคัญของปัญหา
- วัตถุประสงค์ของโครงการ
- สมมติฐานในการวิจัย
- ขอบเขตของการวิจัย
- ข้อตกลงเบื้องต้น
- ข้อจำกัดของการวิจัย
- ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
- คำจำกัดความ / คำนิยามศัพท์เฉพาะ / ความหมายที่ใช้ในการวิจัย / นิยามศัพท์ที่ใช้ในการวิจัย
บทที่ 2 วรรณกรรม และผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง / เอกสาร และงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง / แนวความคิด ทฤษฎี และผลงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง และกรอบแนวคิด
บทที่ 3 วิธีการดำเนินการวิจัย / ระเบียบวิธีการวิจัย
- รูปแบบการวิจัย
- ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง
- เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย (การสร้างแบบสอบถามขั้นตอนการดำเนินการสร้าง แบบสอบถาม การทดสอบใช้แบบสอบถาม)
- วิธีการรวบรวมข้อมูล
- วิธีการวิเคราะห์ข้อมูล และสถิติที่ใช้
บทที่ 4 ผลการวิจัย / ผลการวิเคราะห์ข้อมูล
บทที่ 5 สรุปผล วิจารณ์ผล และอภิปรายผล และข้อเสนอแนะ
- สรุป (อาจย่อวัตถุประสงค์ของการวิจัย วิธีดำเนินงานทุกด้าน และสมมติฐานของการวิจัยในส่วนหนึ่งเป็นการนำ แล้วต่อด้วยผลการวิเคราะห์ข้อมูลส่วนหนึ่ง)
- อภิปราย (โดยการบรรยาย เปรียบเทียบข้อค้นพบของผู้วิจัยกับทฤษฎีและงานวิจัยอื่น ๆ)
- ประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ
- ข้อเสนอแนะ (เนื่องจากค้นพบตามเหตุการณ์ที่ได้พบขณะทำวิจัย / เก็บข้อมูล)
- ข้อเสนอแนะในเชิงนโยบาย
- ข้อเสนอแนะในการนำไปปฏิบัติ
- ข้อเสนอแนะในการทำวิจัยครั้งต่อไป
* บรรณานุกรม
* ภาคผนวก (ถ้ามี)
สำนวนภาษาที่ใช้ในการเขียนข้อเสนองานวิจัย ต้องเป็นภาษาเขียน และเป็นภาษาทางวิชาการ ซึ่งรักษาระดับความพอดี ของการใช้คำศัพท์ทางวิชาการ กับคำศัพท์ในภาษาทั่วไป เพื่อให้สื่อความได้อย่างราบรื่น ในบางกรณีอาจต้องมีภาคผนวกของข้อเสนองานวิจัยด้วย เช่น ตัวอย่างข้อมูล เครื่องมือที่ใช้วัด หรือหนังสือแสดงความยินยอมให้เก็บข้อมูล หากเป็นงานวิจัยที่ต้องสังเกตหรือทดลองจากกลุ่มตัวอย่างที่เป็นบุคคล เป็นต้น

5. การเขียนเนื้อหา
5.1 การเขียนบทนำ
บทนำทำหน้าที่สร้างแรงจูงใจให้เห็นคุณค่าของรายงานนั้น เพื่อให้ผู้อ่านเกิดความสนใจที่จะติดตามอ่านในตอนต่อไป เป็นการเตรียมผู้อ่านเพื่อนำสู่เนื้อเรื่อง และเชื่อมโยงงานในอดีตกับรายงานที่ผู้เขียนนำเสนอ ทำให้ผู้อ่านเห็นช่องว่างของความรู้อันเป็นสาเหตุของการวิจัย หรือการจัดทำผลงานด้วย
วิธีการเขียนบทนำแบ่งออกเป็น 2 วิธี คือ
1) การเขียนแบบกระตุ้นความสนใจ
2) การเขียนแบบปกติ
ในการเขียนรายงานทางวิชาการ ส่วนใหญ่ใช้การเขียนตามวิธีที่ 2 ได้แก่ การเขียนแบบมุ่งเนื้อหา บรรยายความอย่างชัดเจน และตรงประเด็น เนื่องจากมีผู้อ่านที่เป็นกลุ่มบุคคลที่อยู่ในวิชาชีพนั้นอยู่แล้ว จึงไม่ต้องเขียนแบบกระตุ้นให้อ่าน
การเขียนส่วนนำ โดยเฉพาะข้อความในย่อหน้าแรก นับว่ามีความสำคัญในการเชื่อมโยงและนำไปสู่ประเด็นเป็นอย่างยิ่ง สำนวนการเขียนที่ชัดเจน และราบรื่นจะเพิ่มความน่าอ่านให้กับรายงานนั้น ผู้เขียนจึงไม่ควรเริ่มย่อหน้าแรกด้วยการใช้ชื่อเรื่องหรือใช้ข้อความว่า “งานวิจัยนี้มีความมุ่งหมายเพื่อ” ตลอดจนไม่ควรใช้ประโยคคำถาม คำจำกัดความ การแสดงอารมณ์ขันและการบอก คำจำกัดความ การแสดงอารมณ์ขันและการบอกข้อสรุปย่อหน้าแรกในนี้เช่นกัน
การเขียนบทนำ ควรเขียนให้กระชับ ความยาวของบทนำขึ้นกับเนื้อหา แต่อาจประมาณได้ว่าเขียนย่อหน้าต่อความหนึ่งบทข้อความในสองย่อหน้าแรก อธิบายลักษณะของงานและมุ่งสู่ประเด็นโดยไม่ต้องเปรียบเทียบหรือยกตัวอย่าง ต่อจากนั้นจึงระบุขอบเขตของงาน และเหตุผลองการกำหนดขอบเขต และองค์ประกอบอื่น ๆ
การเขียนบทนำในส่วนที่กล่าวถึงหลักและเหตุผล หรือความเป็นมาของปัญหาอุปสรรคควรกล่าวถึงความสำคัญของเรื่องในเชิงกว้างก่อนแล้วจึงเข้าสู่ประเด็นของเรื่องที่ได้กำหนดไว้ เป็นการเขียนงานวิจัยให้อ้างอิงวรรณกรรม เพื่อเป็นการแสดงที่มา ของความคิดหรือปัญหานั้นด้วย ในย่อหน้าสุดท้ายควรระบุความสำคัญของปัญหา และช่องว่างหรือสาเหตุที่นำปัญหานั้นมาศึกษาวิจัย และต้องพยายามเขียนเพื่อให้ผู้อ่านคล้อยตาม หรือเห็นด้วยว่าเรื่องที่เสนอนั้นมีความสำคัญ และควรค่าแก่การศึกษาวิจัย บรรยายสาเหตุที่นำหัวข้อนั้นมาศึกษาแสดงความสำคัญของเรื่องที่เกี่ยวข้องอย่างเป็นเหตุผล ระบุปัญหาหรือประเด็นที่ต้องการอย่างชัดเจน เช่น เป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับงานที่ปฏิบัติ หรืออาจนำไปสู่คำตอบ หรือการสร้างองค์ความรู้อย่างไร และการศึกษานั้นจะก่อให้เกิดประโยชน์อย่างไร เป็นต้น
5.2 การเขียนวัตถุประสงค์
วัตถุประสงค์เป็นส่วนที่สำคัญที่สุด ในข้อเสนอรายงานทางวิชาการ / งานวิจัยเนื่องจากเป็นการระบุทั้งความสำคัญของเรื่อง และเป้าหมายที่ชัดเจน กล่าวคือ เมื่ออ่านรายงานฉบับนั้นจบแล้ว ผู้อ่านจะใช้วัตถุประสงค์เป็นเครื่องประเมินว่าผู้เขียนสามารถค้นพบความรู้หรือได้คำตอบตรงกับวัตถุประสงค์ตามกำหนดไว้หรือไม่
ดังนั้น ในการเขียนวัตถุประสงค์นั้น จะต้องเขียนให้มีความต่อเนื่อง และสอดรับกับข้อความในหลักการและเหตุผล หรือความเป็นมาของปัญหาที่ได้กล่าวไว้ในตอนต้นด้วย

สำหรับการเขียนรายงานการวิจัย จะมีหัวข้อที่ต้องเขียนเพิ่มเติม ซึ่งจะได้นำเสนอในแต่ละส่วน ดังนี้
* การเขียนบทคัดย่อ หรือสาระสังเขป
บทคัดย่อเป็นการสรุปความของผลงานที่สั้นแต่ชัดเจน ทำหน้าที่สื่อสารความรู้ความคิดในรายงานด้วยถ้อยคำที่น้อยที่สุดจึงต้องเขียนให้กระชับ และกล่าวถึงแต่เฉพาะใจความสำคัญเท่านั้น ได้แก่
- วัตถุประสงค์โดยย่อของการศึกษานี้
- วิธีการศึกษา / ระเบียบวินัย
- ผลการศึกษาที่สำคัญ
- ข้อเสนอแนะ และสรุปสั้น ๆ ในการใช้ประโยชน์ ในการเขียนจึงไม่ต้องอ้างอิงเอกสาร หรือยกหลักฐานใด ๆ มาประกอบ และเขียนข้อความด้วยถ้อยคำเต็มทั้งหมด ไม่ใช้คำย่อ และอักษรย่อ
* การเขียนนิยามปฏิบัติการ
คำนิยาม หรือคำจำกัดความ หมายถึง ความหมายของคำศัพท์ที่ใช้ในการวิจัย กรณีคำศัพท์ที่ใช้นั้นมีความหมายได้หลายความหมาย ผู้วิจัยต้องแสดงให้เห็นอย่างชัดเจน ว่าอ้างอิงหรือใช้ความหมายใด หรือในการทำวิจัยนำความหมายมาใช้เฉพาะบางส่วน หรือขยายความจากความหมายเดิม ให้สื่อความหมายให้กว้างขึ้น คำที่นำมาอธิบายอาจรวมถึงคำอธิบายที่เกี่ยวกับตัวแปรต่าง ๆ ด้วยก็ได้


* การเขียนข้อตกลงเบื้องต้น
ข้อตกลงเบื้องต้น หมายถึง เงื่อนไขที่เป็นกรอบความคิด หรือความรู้ที่ใช้เป็นพื้นฐานในการวิจัยนั้นโดยเฉพาะหากเรื่องที่กำลังศึกษานั้นมีหลายทฤษฎี หรืออาจเป็นไปได้ หลายทางหรือใช้เทคนิคได้หลายอย่าง ก็ควรระบุให้ชัดเจนนอกจากนี้ต้องระบุว่าประชากรที่เลือกมาต้องมีคุณสมบัติอย่างไร เช่น เพศ ช่วงอายุ อาชีพ เป็นต้น หรือระยะเวลาที่เลือกมาใช้ศึกษานั้นอาจมีผลต่อการวิจัยอย่างไร
* การเขียนข้อมูลภูมิหลัง
ข้อมูลภูมิหลังเป็นข้อความที่นำเข้าสู่เนื้อเรื่องเพื่อให้ผู้อ่านทราบที่มา และทบทวนความรู้ว่าเรื่องที่อ่านต่อไปนั้นเกี่ยวข้องกับอะไรบ้าง ผู้เขียนจึงต้องเสนอเฉพาะแต่เรื่องที่เกี่ยวข้องโดยตรงเท่านั้น
ในการเขียนเนื้อหาส่วนนี้ ผู้เขียนต้องประมวลข้อมูลที่เกี่ยวข้องมาเป็นอย่างดี มิฉะนั้นเนื้อหาที่เขียนจะไม่ชัดเจน และไม่สามารถเชื่อมโยงเข้าสู่ตัวปัญหาเมื่อกล่าวถึงทฤษฎี หรือผลงานวิจัย จะต้องมีการอ้างอิงเพื่อเป็นหลักฐานประกอบการคนคว้าทุกครั้ง
* การทบทวนวรรณกรรม
การทบทวนวรรณกรรม หรือการเขียนวรรณกรรมที่เกี่ยวข้อง หมายถึง การศึกษาเอกสารทางวิชาการที่เลือกสรรแล้วว่าเขียนโดยนักวิชาการ หรือผู้เชี่ยวชาญในสาขาเพื่อประมวลว่าเรื่องหรือหัวข้อที่กำลังศึกษาวิจัยนั้นได้มีการศึกษากันมาอย่างไร ได้ผลการศึกษาเป็นอย่างไร การศึกษาเหล่านั้นครอบคลุมประเด็นที่ใกล้เคียงหรือแตกต่างอย่างไร การศึกษาในหัวข้อนั้นได้กระทำครบถ้วนแล้วทุกประเด็น หรือยังมีประเด็นใดที่ยังไม่มีผู้ศึกษา การทบทวนวรรณกรรมจะต้องเขียนจากการศึกษาผลงานของนักวิจัยหลาย ๆ คน หาเป็นการเสนอผลงานวิจัยเพียงคนเดียวจะเป็นการเขียนสาระสังเขป ไม่ใช่การทบทวนวรรณกรรม
* ข้อควรคำนึง
ในการทบทวนวรรณกรรม ผู้เขียนต้องศึกษาจากเอกสารต้นฉบับให้มากที่สุด อย่าเพียงแต่อ้างต่อ ๆ กันมาโดยการอิงเอกสาร หรืองานวิจัยที่มีผู้ทำไว้แล้ว การอ้างอิงจากกงานของผู้อื่นเป็นการแสดงว่า ผู้เขียนไม่มีความใส่ใจการค้นคว้าอย่างจริงจัง ไม่เคยอ่านเอกสารต้นฉบับแต่ยืมคำของผู้อื่นมาใช้ ดังนั้น ผู้เขียนจึงไม่ใช่ผู้รู้จริง ความน่าเชื่อถือในการวิเคราะห์และสรุปผลจะน้อยลงหรือไม่มีเลย
สำหรับปริมาณเอกสารที่นำมาทบทวนควรอยู่ในระดับความเหมาะสม ไม่มากไม่น้อยจนเกินไป โดยเราไม่สามารถกำหนดจำนวนวรรณกรรมที่จะมาใช้ทบทวนได้เนื่องจากขึ้นอยู่กับขอบเขต และผลการศึกษาในแต่ละเรื่อง หากเป็นการวิจัยที่เป็นการศึกษาเฉพาะกรณี หรือเป็นการศึกษาในหัวข้อเฉพาะมาก ๆ อาจมีเอกสารให้ศึกษาน้อย ผู้เขียนจึงต้องพยายามค้นคว้าให้ถี่ถ้วนรอบคอบที่สุดเท่าที่จะทำได้
ในการเขียนต้องแสดงถึงความสัมพันธ์ หรือการเชื่อมโยงของผลการวิจัย โดยเสนอในลักษณะแนวคิดร่วมเพื่อให้เห็นถึงกระบวนการทางความคิดที่สะสมต่อเนื่องกันมานำเสนอจากเรื่องกว้างไปสู่เรื่องแคบในการทบทวนวรรณกรรมให้เรียบเรียงด้วยสำนวนภาษาของผู้เขียน อย่าใช้การตัดต่อข้อความจากต้นฉบับสำหรับคำศัพท์เฉพาะนั้น ให้ใช้คำศัพท์ตามที่เขียนไว้ในเอกสารต้นฉบับ และต้องอ้างอิงหรือแสดงแหล่งที่มาของวรรณกรรมอย่างชัดเจนเป็นระบบ และสอดคล้องกับหลักสากล
* การเขียนระเบียบวิธีวิจัย
ผู้เขียนควรกล่าวถึงระเบียบวิธีวิจัยอย่างชัดเจนกล่าวคือ ไม่ควรระบุเฉพาะหัวข้อของระเบียบวิธีที่เลือกใช้เท่านั้น แต่ควรกล่าวถึงที่มาของการเลือกระเบียบวิธีนั้น และรายละเอียดของเครื่องมือที่ใช้ ลักษณะของประชากรที่ใช้ในการวิจัย วิธีการคัดเลือกประชากร และตัวแปรในการวิจัย

6. การเขียนเนื้อเรื่อง
หลักการในการเขียนเนื้อเรื่อง คือ การมุ่งสู่ประเด็นอ่านง่าย ถูกต้องตามอักขรวิธี อย่างไรก็ตามการเขียนเนื้อเรื่องให้ดีได้นั้นย่อมอยู่ที่โครงสร้างของเนื้อหา หรือการมีเค้าโครงเรื่องที่ดีด้วย
ก่อนลงมือเขียนควรศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วนประมวล และบูรณาการความรู้ ความคิดเสียก่อน เพื่อมิให้ความรู้ในเรื่องที่เกี่ยวข้องกระจายอยู่ทั่วไปในส่วนการบรรยายควรบรรยายเนื้อตามลำดับเหตุการณ์ ตามลำดับเหตุผล ตามลำดับกระบวนการถ้าเป็นงานวิเคราะห์เชิงทดลอง หรือมีการทดสอบตัวแปร ให้บรรยายตามลำดับ ดังนี้ คือการเปลี่ยนแปลงตามระยะเวลา ระหว่างการทดสอบการเปรียบเทียบผลของความเปลี่ยนแปลงตามระยะเวลาความสัมพันธ์ระหว่างตัวแปร หรือองค์ประกอบต่าง ๆ ระหว่างการทดลอง และการเปรียบเทียบผลที่ได้รับการทดลอง หรือการวิจัยอื่น ๆ
ในการเสนอเนื้อหาควรบรรยายเฉพาะเนื้อเรื่องที่เกี่ยวข้อง และให้รายละเอียดเพียงพอแก่ความเข้าใจ ถ้ามีรายละเอียดมากจะเป็นเรื่องเฉพาะมากหรือเป็นข้อมูลเพื่อเสริมความเข้าใจให้ยกไปไว้ในภาคผนวก
นอจากการบรรยายเนื้อเรื่องแล้ว ผู้เขียนอาจใช้เครื่องมืออื่นในการขยาย หรือสรุปความให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เช่น ใช้ตาราง แผนภูมิ แผนผัง และภาพประกอบต่าง ๆ เป็นต้น ประกอบการบรรยาย
* การเขียนอภิปรายผล และผลการวิจัย
ก่อนเริ่มอภิปรายผล ผู้เขียนควรทบทวน และต้องติดตามวรรณกรรมอีกครั้งว่า มีวรรณกรรมใหม่ในเรื่องนั้นเพิ่มขึ้นหรือไม่ เนื่องจากการวิจัยอาจต้องใช้เวลาดำเนินการนานซึ่งกว่าจะเสร็จสิ้นกระบวนการอาจเป็นไปได้ว่าจะมีเอกสารใหม่ ๆ เพิ่มขึ้น ทั้งนี้เพื่อให้ผลงานนั้นมีความทันสมัยอยู่ตลอดเวลา
ฉะนั้น เนื้อหาในการอภิปรายผลจึงต้องสอดคล้องกับเนื้อหาในส่วนแรก และเป็นการประมวลจากข้อมูลที่รวบรวม และผ่านการวิเคราะห์อย่างมีเหตุผล และเป็นไปตามลำดับปัญหาหรือสมมติฐานที่กำหนดไว้เมื่ออภิปรายเรื่องใดควรมีการกล่าวนำเสนอในรูปตารางอภิปรายตารางจากเรื่องกว้างไปสู่เรื่องแคบ ตลอดจนอภิปรายข้อจำกัดของการวิจัย เช่น ข้อกำหนดทางจริยธรรม หรือลักษณะของตัวแปรที่อาจมีผลต่อการวิจัย ตลอดจนเสนอผลของงานวิจัยที่เกี่ยวข้องว่าสอดคล้อง หรือขัดแย้งกับผลการวิจัยของผู้เขียนหรือไม่

7. การเขียนบทสรุป
ก่อนอื่นต้องทำความเข้าใจว่าบทสรุปมิใช่เรื่องย่อ ดังนั้นจึงไม่จำเป็นต้องลำดับความเป็นมาตั้งแต่ต้น แต่สามารถสรุปผลได้ทันที สำหรับเนื้อหาที่เขียนเป็นบทสรุปจึงต้องเขียนให้กระชับ และชัดเจนที่สุด ความยาวของบทสรุปไม่ควรเกินร้อยละ 5 – 10 ของเนื้อหา ผู้เขียนควรเขียนให้สอดคล้องกับปัญหาที่นำเสนอไว้ในส่วนนำ และสรุปตามลำดับของการนำเสนอเนื้อเรื่อง
กรณีที่เป็นบทสรุปในรายงานการวิจัย ถ้ามีสมมติฐานจะต้องสรุปอย่างชัดเจนว่า ผลการวิจัยสนับสนุนหรือปฏิเสธสมมติฐาน อาจใช้วิธีการเปรียบเทียบสถานการณ์ก่อนและหลังการวิจัย เสนอปัญหาระหว่างการวิจัย และวิธีแก้ปัญหานั้นด้วย บทสรุปในรายงานทางวิชาการมิใช่บทสรุปเฉพาะเนื้อหาเท่านั้น แต่ต้องเป็นบทสรุปของผู้วิจัยด้วยว่ามีความคิดเห็นอย่างไรในปัญหานั้น หรือได้องค์ความรู้อะไรบ้าง เป็นต้น

8. การเขียนข้อเสนอแนะ
การเขียนจะเป็นไปในลักษณะของการเสนอปัญหาจากเรื่องราวของผลงานที่นำเสนอ ดังนั้น ข้อเสนอแนะจึงต้องมีรายละเอียดมากพอที่จะนำไปปฏิบัติได้ ในการเสนอแนะจึงต้องคำนึงถึงข้อจำกัดของสถานการณ์ และเงื่อนไขต่าง ๆ หากมีหลักฐานสนับสนุนควรยกมาอ้างอิงด้วย นอกจากนี้ ข้อเสนอแนะนั้นต้องไม่เหลือวิสัยที่จะกระทำได้ และควรระบุอย่างชัดเจนว่าเป็นข้อเสนอแนะให้แก่ใคร ถ้าเสนอแนะแก่บุคคลหลายกลุ่ม ควรแยกข้อเสนอแนะสำหรับแต่ละกลุ่ม

เกร็ดความรู้เกี่ยวกับการเขียนรายงาน การใช้ภาษาในการเขียนรายงาน

ความสำเร็จของการเขียนรายงานขึ้นอยู่กับองค์ประกอบสองประการ คือ คุณภาพของเนื้อหา และความสามารถในการถ่ายทอด และวิธีการที่ในการถ่ายทอด และสื่อสารเนื้อหา ก็คือการเขียนนั่นเอง
การเขียนงานวิชาการ เป็นการเขียนตามลำดับโครงเรื่องที่กำหนดให้มีการแบ่งเนื้อหาออกเป็นบท ตอนและหัวข้อซึ่งทุกส่วนต้องมีความสัมพันธ์ กลมกลืนและต่อเนื่องกันทั้งเรื่อง
* การใช้กระบวนการเขียนที่เหมาะสม
กระบวนการเขียนหรือโวหาร หมายถึง วิธีการในการแต่งหนังสือหรือคำพูดประกอบด้วย พรรณนาโวหาร บรรยายโวหาร และวิพากย์โวหาร กระบวนการเขียนที่ใช้ในการเขียนรายงานทางวิชาการ คือ วิพากย์โวหาร ซึ่งหมายถึง การเขียนโดยนำข้อมูลมากลั่นกรอง และจำแนกประเภทเสียก่อน แล้วจึงนำมาเรียงร้อยโดยแสดงความสัมพันธ์ระหว่างข้อมูลที่มาจากแหล่งต่างกัน ให้กลมกลืนเป็นเนื้อเรื่องเดียวกัน
* การเขียนคำอธิบายความหมาย หรือคำจำกัดความ
ในการเขียนคำอธิบายความหมายให้ระบุว่าเรื่องที่กำลังจะอธิบายนั้นคืออะไร ถ้าเป็นส่วนย่อยของเรื่องใหญ่ อาจระบุหัวข้อหรือที่มาของเรื่องนั้นด้วยก็ได้ ถ้าคำอธิบายเป็นคำศัพท์ที่อิงความหมายมาจากรากศัพท์ในภาษาเดิม ควรอธิบายและกำกับคำที่เป็นรากศัพท์ในภาษาเดิม ควรอธิบายและกำกับคำที่เป็นรากศัพท์ไว้ด้วย ต่อมาจึงกล่าวถึงคุณสมบัติที่จำเป็นของสิ่งนั้น และเน้นคุณสมบัติส่วนที่เด่นหรือคำสำคัญที่สุด
* การใช้สำนวนภาษา
ถ้อยคำและสำนวนที่ใช้ในการเขียนรายงานทางวิชาการ ต้องเป็นภาษาเขียน และเป็นภาษาราชการ ไม่ใช้คำในภาษาตลาด คำแสลง คำหยาบ และภาษาเฉพาะถิ่น การบรรยายเน้นความชัดเจน และเรียบง่ายไม่จำเป็นต้องเป็นภาษาที่ตั้งใจเขียนให้สละสลวยงดงามเป็นพิเศษ ใช้น้ำหนักภาษาในระดับปานกลาง หลีกเลี่ยงสำนวนภาษาที่แสดงความรู้สึก และการเสียดสีประชดประชัน
* การจัดโครงสร้างของย่อหน้า
ย่อหน้าคือ การแบ่งข้อความที่จะเขียนออกเป็นส่วน ๆ โดยใช้การเขียนแบบเยื้องเข้าหรือการย่อหน้าเป็นการบอกความว่าเริ่มเนื้อเรื่องในประเด็นใหม่ ดังนั้น ย่อหน้าจึงเป็นเครื่องหมายวรรคตอนชนิดหนึ่ง ทำหน้าที่ในการแบ่งข้อความเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจความมายได้อย่างชัดเจน และถูกต้องตรงกับความคิดที่ผู้เขียนต้องการสื่อสาร เราไม่สามารถกำหนดความยาวของข้อความในแต่ละย่อหน้าได้ เนื่องจากขึ้นอยู่กับเนื้อหา และความซับซ้อนของเนื้อหาด้วย
ในแต่ละย่อหน้าควรเสนอความคิดเพียงประเด็นเดียวแต่สามารถระบุปัจจัยหรือองค์ประกอบที่เกี่ยวกับเรื่องนั้นได้ ถ้าข้อความที่ต้องการบรรยายมีความยาวมากให้แบ่งออกเป็นตอน ๆ ตอนละ หนึ่งย่อหน้า การแบ่งข้อความออกเป็นตอน ๆ จะทำให้อ่านง่ายขึ้นตลอดจนผู้อ่านได้มีโอกาสหยุดคิด เพื่อทบทวนความเข้าใจ ถ้าต้องการอ่านซ้ำก็สามารถทำได้ง่าย และผู้อ่านที่ต้องการค้นคว้าเพื่ออ้างอิงก็ทำได้ง่าย เช่นเดียวกัน
โดยทั่วไปสามารถแบ่งย่อหน้า ดังนี้ คือ ย่อหน้านำความคิดระบุข้อความนำที่จะกล่าวต่อไป ย่อหน้าแสดงความคิด คือ ระบุเนื้อหาที่จะเป็นข้อมูลหลักพร้อมการอ้างอิงเหตุผลหรือหลักฐานมักเป็นส่วนที่ขยายความจากย่อหน้า ย่อหน้าที่แสดงความคิดนี้อาจมีมากกว่าหนึ่งย่อหน้าก็ได้ ย่อหน้าสรุปความคิด และย่อหน้าเชื่อมโยง ทำหน้าที่สื่อความไปยังความคิดถัดไป
- โครงสร้างประโยค ประโยคที่ใช้ในการเขียนรายงานควรเป็นประโยคที่สั้น และตรงไปตรงมา การเขียนประโยคแบบง่ายหลายประโยคจะสื่อความได้ดีกว่าการเขียนประโยคที่ซับซ้อนเพียงประโยคเดียว
- ความกลมกลืน และต่อเนื่อง ข้อความในแต่ละย่อหน้าไม่ว่าจะเป็นข้อความในหัวข้อเดิม หรือเป็นข้อความในหัวข้อใหม่ จะต้องเขียนให้กลมกลืนและเชื่อมโยงเนื้อความเดียวกัน
- ความสั้นกระชับ หมายถึง การใช้คำเฉพาะที่จำเป็นไม่ซ้ำคำที่มีความหมายเดียวกันขยายความ ถ้าถ้อยคำใดที่ไม่สื่อความหมายก็ให้ตัดออก
- การเน้นข้อความ การเน้นข้อความเพื่อแสดงความสำคัญของใจความสามารถกระทำได้โดยการพิมพ์แบบเน้นข้อความ และไม่จำเป็นต้องใช้การพิมพ์แบบเน้นข้อความ และขีดเส้นใต้ในขณะเดียวกันการเน้นให้เลือกเน้นเฉพาะข้อความที่สำคัญอย่างแท้จริงเท่านั้น หากผู้เขียนเน้นข้อความอย่างพร่ำเพรื่อ เนื้อความก็จะเต็มไปด้วยการเน้นจนแยกไม่ได้ว่าส่วนใดสำคัญที่สุด จึงกลายเป็นว่าทุกส่วนที่เน้นมีความสำคัญเท่านั้น นอกจากนี้เมื่อพิมพ์แล้วจะดูรกตาไม่สวยงาม
การเน้นประเด็นสำคัญในเอกสารทางวิชาการสามารถกระทำได้โดยไม่จำเป็นต้องใช้เทคนิคทางการพิมพ์เพื่อเน้นข้อความ การนำเสนอข้อความในลักษณะการมีย่อหน้าสรุป ก็เป็นการเพียงพอที่จะย้ำเน้นข้อความสำคัญแล้ว นอกจากนี้ผู้เขียนไม่ควรเน้นข้อความเพียงเพื่อต้องการให้ผู้อ่านเห็นหรือสังเกตคำนั้น เนื่องจากในการอ่านรายงานทางวิชาการ ผู้อ่านมีวิจารณญาณพอที่จะสังเกตและเข้าใจข้อความได้
* การใช้อักษรย่อ
คำย่อและคำตัดในการเขียนรายงานวิชาการนั้นไม่นิยมการเขียนด้วยคำย่อ และอักษรย่อ ถ้าจำเป็นต้องใช้อักษรย่อให้ใช้เฉพาะคำที่ทราบความหมายกันอย่างแพร่หลาย และสื่อความได้ชัดเจน เช่น ใช้ พ.ศ. แทนคำว่า พุทธศักราช เป็นต้น สำหรับอักษรย่อหรือคำย่อที่ไม่ใช้บ่อย หรือใช้เฉพาะบางสาขาวิชาต้องมีบัญชีคำย่อ และอักษรเพื่อบอกความหมายไว้ในสารบัญคำย่อด้วย
สำหรับการใช้คำตัด หรือการเขียนเฉพาะบางส่วนของคำตามด้วยเครื่องหมายไปยาลน้อย เช่น กรุงเทพฯ แทนคำว่า กรุงเทพมหานคร ให้ใช้ได้เมื่อในเนื้อหานั้นต้องใช้คำนั้นบ่อยมากเป็นเศษเท่านั้น ถ้าไม่ได้ใช้มากให้เขียนคำเต็ม
* การใช้คำให้ถูกภาษา
ประกอบด้วย
- การเขียนแบบกรรตุวาจก แทนการเขียนแบบกรรมวาจก
- การใช้คำให้ถูกต้องตามหน้าที่ของคำ
- การใช้คำลักษณะนามให้ถูกต้อง
- การเขียนภาษาไทยด้วยสำนวนภาษาไทย ไม่ใช้คำโครงสร้างประโยค และสำนวนการเขียนในภาษาอื่นโดยเฉพาะในภาษาอังกฤษ
* การเขียนคำศัพท์
ผู้เขียนควรใช้คำศัพท์ให้ถูกต้องตรงกับความหมาย และใช้คำศัพท์ทางวิชาการ อย่างเหมาะสมไม่ใช้อย่างฟุ่มเฟือยจนเกินไป

การใช้คำในภาษาต่างประเทศ
1) คำศัพท์ทั่วไป คำภาษาต่างประเทศที่เป็นคำศัพท์ในภาษาทั่วไป ให้แปลเป็นภาษาไทย ถ้าแกรงว่าผู้อ่านจะเข้าใจความหมายผิด หรือต้องการระบุให้ชัดเจนว่ามีที่มาอย่างไร สามารถกำกับคำในภาษาอังกฤษไว้ในวงเล็บได้ และให้เขียนภาษาอังกฤษกำกับเฉพาะเมื่อกล่าวถึงคำนั้นเป็นคำแรกเท่านั้น เมื่อใช้คำนั้นในครั้งต่อ ๆ ไป ไม่ต้องเขียนคำในภาษาอังกฤษกำกับอีก หากคำภาษาอังกฤษที่เขียนกำกับไว้ในวงเล็บมีมากกว่าหนึ่งคำ ผู้เขียนจะขึ้นต้นทุกคำด้วยตัวอักษรพิมพ์ใหญ่หรือไม่ก็ได้ แต่จะต้องใช้วิธีเขียนอย่างเดียวกัน ให้สม่ำเสมอในรายงานทั้งฉบับ
หากคำภาษาอังกฤษที่ใช้นั้นไม่มีคำแปลที่เหมาะสมสามารถใช้คำภาษาอังกฤษนั้นทับศัพท์ลงไปได้ สำหรับคำที่ใช้ทับศัพท์และยอมรับให้ใช้ในภาษาไทยปรากฏอยู่ในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน (2525) เช่นคำว่า ซีเมนต์ พีระมิด โบนัส เป็นต้น หากคำที่ต้องการใช้ไม่มีในพจนานุกรม ให้ใช้วิธีเขียนทับศัพท์ที่ราชบัณฑิตยสถานกำหนดไว้ ซึ่งสามารถค้นได้จากหนังสือคำที่เขียนทับศัพท์จากภาษาต่างประเทศในพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน 2525
2) คำศัพท์ทางวิชาการ การแปลคำศัพท์ทางวิชาการ ให้ใช้ศัพท์บัญญัติของราชบัณฑิตยสถานหากราชบัณฑิตยสถานไม่ได้บัญญัติไว้ จึงแปลตามความนิยมที่ใช้ในสาขาวิชานั้น อย่างไรก็ตามแม้ว่าผู้เขียนต้องเขียนรายงานทางวิชาการ ผู้เขียนก็ควรรักษาความสมดุลในการใช้คำศัพท์ทางวิชาการกับคำศัพท์ทั่วไปให้เหมาะสม เนื่องจากหากใช้คำศัพท์ทางวิชาการมากจนเกินไป รายงานนั้นจะไม่น่าอ่านและสื่อความหมายได้ชัดเจน
ให้ใช้คำศัพท์ทางวิชาการในกรณีต่อไปนี้ คือ ใช้เมื่อไม่สามารถสื่อความหมายได้ชัดเจนหากใช้คำศัพท์ทั่วไป ไม่มีคำในภาษาทั่วไปที่สามารถอธิบายความได้ตรงประเด็น คำในภาษาทั่วไปมีความหมายไม่ตรงกับความหมายในทางทฤษฎีหรือคำศัพท์ทางวิชาการนั้นเป็นคำใช้แพร่หลายหรือนิยมใช้กันอยู่แล้ว
* ความคงที่ในการใช้คำศัพท์
คำศัพท์ที่ใช้ไม่ว่าเป็นคำในภาษาไทย หรือเป็นคำที่แปลมาจากภาษาอื่นก็ตาม ต้องควบคุมใช้คำนั้นให้สม่ำเสมอ กล่าวคือ เมื่อเลือกใช้คำใดก็ตามก็ให้คงใช้คำนั้นในรายงานตลอดทั้งฉบับ
- การเขียนชื่อที่เป็นวิสามานยนาม
การเขียนชื่อหน่วยราชการและรัฐวิสาหกิจทั้งชื่อไทยและชื่อภาษาอังกฤษให้ตรวจสอบจากหนังสือ นามสงเคราะห์ส่วนราชการไทย หรือในเว็บของทำเนียบรัฐบาลหรือของหน่วยงานเหล่านั้น หากเป็นชื่อบริษัทหรือหน่วยงานเอกชนให้ตรวจสอบกับหน่วยงานนั้นโดยตรง
ถ้าเป็นชื่อทางภูมิศาสตร์เช่น ชื่อประเทศ ชื่อเมือง ชื่อเกาะ ให้ตรวจสอบจากประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีและราชบัณฑิตยสถานเรื่องการกำหนดชื่อทวีป ประเทศ เมืองหลวง มหาสมุทร และเรื่องการกำหนดชื่อจังหวัด เขตอำเภอและกิ่งอำเภอ
- การใช้สรรพนาม ในการเขียนเอกสารวิชาการ ไม่ใช้สรรพนามบุรุษที่หนึ่ง และสรรพนามบุรุษที่สอง หากจำเป็นอาจใช้คำแทนบุรุษที่หนึ่งว่า “ผู้เขียน” หรือ “ผู้วิจัย” เมื่อกล่าวถึงนักวิจัยที่นำผลงานมาอ้างอิง ให้กล่าวถึงผู้นั้นโดยเรียกชื่อทุกครั้ง แม้ว่าต้องมีการกล่าวถึงชื่อนั้นหลายครั้ง ไม่ใช้สรรพนามบุรุษที่สามว่า “เขา” ทั้งนี้เพื่อให้เกิดความชัดเจนว่าหมายถึงบุคคลใด
* การอ้างชื่อบุคคล ถ้าต้องการกล่าวถึงตำแหน่งของบุคคลให้ใช้คำที่เรียกชื่อตำแหน่งของบุคคลให้ใช้คำที่เรียกชื่อตำแหน่งอย่างเป็นทางการ เช่น ใช้คำว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว แทนคำว่า ในหลวง ใช้คำว่านายกรัฐมนตรี แทนคำว่า นายกฯ หรือท่านนายก เป็นต้น
ในการกล่าวถึงชื่อบุคคลให้ตรวจสอบตัวสะกดชื่อตัวและชื่อสกุลอย่างถูกต้องเสียก่อน ถ้าเป็นชาวต่างประเทศเรียกชื่อสกุล ถ้าเป็นชาวไทยใช้ทั้งชื่อตัวและชื่อสกุล ทั้งนี้ไม่ต้องระบุตำแหน่งทางวิชาการหรือระบุคุณวุฒิ แต่ถ้าเป็นคำที่ระบุฐานันดรแห่งราชวงศ์และยศ ต้องเขียนกำกับด้วยทุกครั้ง
* การเขียนตัวเลข การกล่าวถึงตัวเลขตั้งแต่หนึ่งถึงสิบให้เขียนด้วยตัวอักษร หากเกินจากนี้ไปจึงเขียนด้วยตัวเลขและใช้ตัวเลขในการกำกับลำดับที่ของหัวข้อในเนื้อหา
- การอ้างอิงสูตร อ้างเฉพาะสูตรที่ไม่คุ้นเคยหรือเป็นสูตรที่ใช้เฉพาะเรื่อง ไม่เป็นที่แพร่หลายทั่วไป
- การใช้มาตรหน่วยนับ หรือมาตราที่ใช้เป็นมาตราเมตริก ยกเว้นเป็นการศึกษาในหัวข้อเฉพาะก็ให้ใช้มาตราที่นิยมใช้ในเรื่องนั้นเป็นเฉพาะกรณี

การอ้างอิงและบรรณานุกรม
* การอ้างอิง
การอ้างอิง (References) คือการระบุที่มาของความรู้ ความคิดเห็น ข้อวินิจฉัย ตัวอย่าง การทดลอง รูปภาพ สถิติ ตาราง ผลงานสร้างสรรค์หรือสื่ออื่น ๆ ที่ใช้ในการวิจัย การนำผลงานของผู้อื่นมาใช้โดยไม่แสดงการรับรู้เป็นการแอบอ้างผลงาน ซึ่งนอกจากเป็นการละเมิดจริยธรรมในการวิจัยอย่างร้ายแรงแล้ว ยังเป็นการละเมิดลิขสิทธิ์อีกด้วย
ข้อมูลทุกประเภทที่นำมาใช้ในการเขียนรายงานไม่ว่าเป็นสื่อหรือสิ่งพิมพ์ เช่น หนังสือ วารสาร จุลสาร หรือเป็นปาฐกถา คำปราศรัย สุนทรพจน์ (ทั้งที่ตีพิมพ์และไม่ตีพิมพ์) รูปภาพ แผนที่ หรือสิ่งอื่น ๆ เช่น สื่อโสตทัศน์ หรือสื่ออิเล็กทรอนิกส์ ก็ต้องนำมาอ้างอิงหรือเขียนไว้ในบรรณานุกรมทั้งสิ้น
รูปแบบการอ้างอิงเอกสารที่นิยมใช้ในการเขียนรายงานทางวิชาการ ในสาขาสังคมศาสตร์ เป็นการในระบบนาม-ปี คือการระบุชื่อผู้เขียนและปีที่พิมพ์เอกสารนั้นไว้ในวงเล็บต่อท้ายข้อความที่อ้างอิง
วิธีการอ้างอิงมี 2 วิธีคือ
1) การอ้างอิงโดยการคัดลอกข้อความ
2) การอ้างอิงโดยการสรุปความ
* บรรณานุกรม
บรรณานุกรม คือ รายชื่อเอกสารที่ผู้เขียนใช้ในการค้นคว้า เพื่อเขียนรายงานทางวิชาการนั้น รายงานเอกสารที่ผู้เขียนนำมาอ้างอิงทุกรายการต้องปรากฏในบรรณานุกรม แต่รายการเอกสารในบรรณานุกรมอาจไม่จำเป็นต้องนำมาอ้างอิงทุกรายการ เนื่องจากอาจเป็นเพียงพื้นฐานที่ผู้เขียนใช้เพื่อศึกษาหรือหาความรู้ในเรื่องที่เขียนรายงานนั้น
รายงานเอกสารในบรรณานุกรมให้แบ่งตามภาษา คือแบ่งเป็นเอกสารภาษาไทย และเอกสารภาษาอังกฤษในแต่ละภาษาให้จัดเรียกเอกสารตามลำดับอักษรชื่อผู้เขียนในภาษานั้น ถ้าผู้เขียนคนเดียวกันนั้นเขียนเอกสารหลายเรื่องให้เรียงตามลำดับปีที่พิมพ์ด้วย
การเขียนบรรณานุกรม มีหลักเกณฑ์และรูปแบบซึ่งเป็นรายละเอียดมากเกินกว่าจะนำมากล่าวในที่นี้ได้ผู้สนใจสามารถศึกษาเพิ่มเติมได้จากเอกสารในห้องสมุดต่าง ๆ
* ข้อควรคำนึง
รายงานทางวิชาการที่ดีมีคุณสมบัติสี่ประการคือ ประการแรก ได้แก่ การศึกษาค้นคว้า เพื่อรวบรวมความรู้ หรือสารสนเทศที่จะนำมาเรียบเรียงเนื้อเรื่อง ประการที่สอง ได้แก่ การประมวลสารสนเทศอย่างเป็นระบบและวิเคราะห์ข้อมูลหรือสารสนเทศที่รวบรวมมานั้นอย่างรอบคอบ ประการที่สาม ได้แก่ การสื่อสารความรู้ ความคิดไปยังผู้อ่านด้วยเทคนิคการเขียนที่เหมาะสม และนำเสนอรายงานตามรูปแบบที่เป็นมาตรฐาน และประการที่สี่ได้แก่ การแสดงหลักฐานซึ่งเป็นที่มาของความรู้และความคิดที่ใช้ในการเขียนรายงานนั้น


ตัวอย่าง

ปกหน้า – ปกใน
รายงานการวิจัย / ผลงานทางวิชาการ



ชื่อเรื่อง ..................................................................


โดย

นาย/นาง/น.ส. ........................................................
ตำแหน่ง....................................ตำแหน่งเลที่...........................................
โรงเรียน ....................................................
สังกัด.............................................
พ.ศ...................................
























ตัวอย่าง

บรรณานุกรม

ปรีชา ช้างขวัญยืน. 2525. ศิลปะการเขียน. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์เทพประทานพร.
ปรีชา อุปโยธิน. 2541. การใช้ภาษาในการเขียน ในคู่มือวิทยานิพนธ์บัณฑิตวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยมหิดล. อดุลย์ วิริยะเวชกุล ปรีชา อุปโยธิน และประสิทธิ์ ลีระพันธ์
บรรณาธิการ. กรุงเทพมหานคร : มหาวิทยาลัยมหิดล. หน้า 409-420.
ปรีชา อุปโยธิน. 2541. การตั้งชื่อเรื่องวิทยานิพนธ์ ในคู่มือวิทยานิพนธ์บัณฑิตวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยมหิดล. อดุลย์ วิริยะเวชกุล ปรีชา อุปโยธิน และประสิทธิ์ ลีระพันธ์
บรรณาธิการ. กรุงเทพมหานคร : มหาวิทยาลัยมหิดล. หน้า 421-530.
ปรีชา อุปโยธิน. 2541. การทบทวนวรรณกรรม ในคู่มือวิทยานิพนธ์บัณฑิตวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยมหิดล. อดุลย์ วิริยะเวชกุล ปรีชา อุปโยธิน และประสิทธิ์ ลีระพันธ์
บรรณาธิการ. กรุงเทพมหานคร : มหาวิทยาลัยมหิดล. หน้า 97-112.
พรพรรณ ธารานุมาศ. 2518. สำนักกรเขียน. กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์ไทยสัมพันธ์.
พิไลพันธ์ พุธวัฒนะ. 2541. เทคนิคการเขียนอภิปรายผล ในคู่มือวิทยานิพนธ์บัณฑิตวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยมหิดล. อดุลย์ วิริยะเวชกุล ปรีชา อุปโยธิน และประสิทธิ์ ลีระพันธ์
บรรณาธิการ. กรุงเทพมหานคร : มหาวิทยาลัยมหิดล. หน้า 147-152.
รุ่งทิวา วัจฉละฐิติ. 2541. เทคนิคการเขียนบทนำ ในคู่มือวิทยานิพนธ์บัณฑิตวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยมหิดล. อดุลย์ วิริยะเวชกุล ปรีชา อุปโยธิน และประสิทธิ์ ลีระพันธ์
บรรณาธิการ. กรุงเทพมหานคร : มหาวิทยาลัยมหิดล. หน้า 79-96.
อดุลย์ วิริยะเวชกุล. 2541. การเขียนบทคัดย่อ ในคู่มือวิทยานิพนธ์บัณฑิตวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยมหิดล. อดุลย์ วิริยะเวชกุล ปรีชา อุปโยธิน และประสิทธิ์ ลีระพันธ์
บรรณาธิการ. กรุงเทพมหานคร : มหาวิทยาลัยมหิดล. หน้า 241-242.
อดุลย์ วิริยะเวชกุล. 2541. การเขียนบทสรุป ในคู่มือวิทยานิพนธ์บัณฑิตวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยมหิดล. อดุลย์ วิริยะเวชกุล ปรีชา อุปโยธิน และประสิทธิ์ ลีระพันธ์
บรรณาธิการ. กรุงเทพมหานคร : มหาวิทยาลัยมหิดล. หน้า 153-154.
อรนช ภาชื่น. 2541. เทคนิคการเขียนผลการวิจัย ในคู่มือวิทยานิพนธ์บัณฑิตวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยมหิดล. อดุลย์ วิริยะเวชกุล ปรีชา อุปโยธิน และประสิทธิ์ ลีระพันธ์
บรรณาธิการ. กรุงเทพมหานคร : มหาวิทยาลัยมหิดล. หน้า 137-146.
อุทุมพร (ทองอุไทย) จามรมาน. 2533. การเขียนโครงการวิจัย. กรุงเทพมหานคร : ฟันนีพับบลิชชิ่ง.
Freidman. Sharon and Steinberg. Stephen. 1986. Writing and Thinking in the Social
Sciences. Englewood Cliffs : Prentice-Hall.
Lester. James D., 1993 Writing Research paper : A Complete Guide. 2nd ed. New York :
Harpe Coltins.
Nolinske. Terric. 1998. Writing Research : Theory and Mehtods. Boston : Allyn and Bacon.
Taylor. Dena. 2001. Literature Review : A Few Tips Tips on Conducting It (Online)
A vailable at http://www.untoronto.ca/writing/litrev.html Retrieved January 24, 2002.
Teitelbaum. Harry. 1994. How to Write a Thesis. 3rd ed. New York : Cacillan.
Writing a Research Proposal (Online). 1999. Available at
http://mercy.georgain.edu/~woottoon/resprop.htm.

No comments: